การกระทำ สมาธิจิต ทำเหมือนทำสมาธินั่นแหละ
ทำเหมือนทำสมาธินั่นแหละ แบบเดินทำ การนั่งทำสมาธิ การยืนทำสมาธิ การนอนทำสมาธินั้นทำได้ถึง 4 อิริยาบถ ไม่บาป ขอให้ทำกัน ถึงแม้เราจะทำงานประเภทใดก็ตาม เขียนหนังสือก็ดี หั่นผักก็ดี อะไรก็แล้วแต่ ขอให้มีสติคุมให้ทัน ให้ใจมันตั้งมั่นอยู่ ในงานที่เราก็เป็นสมาธิ สมาธินี่ก็แปลว่าตั้งใจไว้มั่นเท่านั้น งานอะไรก็ตามถ้าเราตั้งใจไว้มันไม่ให้จิตของเราออกไปอารมณ์สัญญา มือทำอันนี้ แต่ใจไปคิดอันโน้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้น ก็จัดว่าเป็นสมาธิอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอยากจะให้ทำกัน
แล้วก็อุบายทำสมาธินี่มันดีเหมือนนะ มอง ๆ อาตมามอง ๆ พิจารณาดูแล้วนี่ เอ้อ..มันดี คือว่าตามธรรมดาจิตของเรานี่ปล่อยปละละเลยกัน ไม่มีแผน แหม…ก็รู้สึกว่ามันไปอย่างไม่มีจุดหมาย มันก็แล้วแต่เหตุการณ์จะนำพา เหตุการณ์คือสิ่งกระทบที่จะชวนให้เรารักจะชวนให้เราชัง มันก็แล้วแต่เหตุการณ์จะชวนนำพา ส่วนจิตของเราก็ไหวตัวไปตามเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ชวนให้เป็นทุกข์ก็ทุกข์ เศร้าหมองก็เศร้าหมอง เหตุการณ์ที่จะชวนให้สนุกร่าเริงบันเทิง ก็เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ทั้งนั้นเลย
เป็นอันว่าเราไม่มีความสามารถจะจัดสรรหรือบังคับจิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจตัวบังคับ แหม…อันนี้รู้สึกว่าน่าเสียดาย เพราะว่ามันมีภัยอันตรายอยู่รอบด้าน ทีนี้ถ้าหากว่าเรานี่มีความสามารถสร้างกำลังขึ้นมานำพาจิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจตัวบังคับ รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก อย่างที่อาตมาปรารภเมื่อเช้านี้ เล่าถึงเรื่องควาย สมมติว่าไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแลเลยนี่ รู้สึกจะไม่ปลอดภัย นี่พวกเราก็พอที่จะมองเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยควายไปโดยลำพังของควายนี่ มันก็ไปแบบที่ไม่มีจุดหมาย บางก็อาจจะเป็นอันตรายได้ง่าย เช่น มีเสือ สมมติว่าอยู่ใกล้ป่าใกล้ดงเสือ ก็อาจจะกัดมันได้ มีงู ๆ ก็อาจจะกัดมันได้ หรือโจรอาจจะนำพาไปได้โดยง่าย หรืออาจจะไปเหยียบย่ำข้าวของ ๆ คนหรือไปกินของ ๆ เขาก็ได้ แหม…รู้สึกว่าอันตรายมันอยู่รอบด้าน ไม่สู้จะปลอดภัยนัก
แต่สำหรับควายที่มีเจ้าของตามดูแลรักษานี่ ผิดจากควายที่ปล่อยไปโดยลำพัง คือ เจ้าของจะต้องดูแล ว่ามีภัยอันตรายอยู่ตรงไหน เช่น มีงู มีเสือ ซึ่งเป็นอันตรายต่อควายนี่ เขาจะไม่ให้เข้าไปในเขตนั้นเลยเป็นอันขาด เจ้าของจะต้องคอยต้อนคอยไล่ ดูแลอยู่ใกล้ชิดอะไรเหล่านี้ เป็นต้น รักษาความปลอดภัยให้แก่มันอู่ได้ตลอดเวลา โจรจะมาขโมยนั้นไปพร้อมทั้งโจรจะมาขโมยควายไปนั้น ก็เอาไปไม่ได้ เพราะเจ้าของตามติดจี๊อยู่นี่ จะมาเอาได้อย่างไร โจรก็มีความเกรงกลัวต่อเจ้าของ แล้วจะมาเอาได้อย่างไร จะไม่มีความสามารถที่จะเอาไปได้
เจ้าของยังสามารถที่จะต้อนเข้าไปสู่จดที่ดีได้ เช่น หญ้าดี น้ำดี เจ้าของก็พยายามต้อนเข้าไปสู่จุดที่ดีนั้นได้ตลอดเวลา ถึงเวลาที่จะเอาเข้าบ้านก็พยายามต้อนเข้าบ้าน เข้าคอกได้สบาย ปลอดภัย ลองสังเกตดูสิ ควายที่ปล่อยไปโดยลำพัง กับควายที่มีเจ้าของตามรักษาดูแล มันมีความปลอดภัยผิดกัน
หรืออาตมาปรารภอีกอย่างหนึ่งว่าเด็กนะ ตามธรรมดาเด็กอ่อนนี่มันไม่รู้เดียงสา มันก็ไปตามสิ่งที่ได้เห็น ไปตามสิ่งที่ได้จับ เพราะเด็กอ่อนนี่เห็นของอะไรมันก็คว้าจับไปตามเรื่องตามราว ของสกปรกโสโครกมันก็จับได้ ของที่มันร้อน เช่น ไฟมันก็จับได้ ของที่เป็นคม มีคมสามารถที่จะบาดมือ มันก็จับได้ เพราะมันไม่รู้เรื่อง อาศัยสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู ก็เป็นอันว่าโผเข้าหาทันทีเลย
แต่ถ้ามีพี่เลี้ยงดูนี่หรือมีคนดูแลนี่ ก็สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เด็กเป็นอันตราย อาจจะหยิบของที่เป็นอันตรายต่อเด็กอ่อนซะ หรืออาจจะเอาเด็กออกจากของที่เป็นอันตรายซะ เด็กจะคลานไปตกลงที่ต่ำก็เป็นอันตรายก็อุ้มหนีซะ พยายามป้องกันรักษาอยู่ เด็กนั้นย่อมปลอดภัย เพราะฉะนั้น เด็กปล่อยตามลำพังของเด็กเองนะย่อมจะเป็นอันตรายได้ง่าย เด็กที่มีคนคอยรักษาดูแลไม่เผลอ ย่อมปลอดภัย ฉันใด
จิตของเราก็เหมือนกับเด็กอ่อนนั่นแหละ อาศัยสิ่งที่เห็นในตา อาศัยสิ่งที่ได้ยินในหู ชวนให้รัก ชวนให้ชัง เกลียด โกรธ อะไรก็เป็นไปตามรูปสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน แต่เมื่อผู้ใดมีอำนาจอีกอันหนึ่งคือตัวนำพาหรือตัวคุ้มกัน จิตใจจะไม่เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์โดยตรง จะต้องมีกำลังจัดสรรเหมือนกับควายที่มีเจ้าของตามรักษาดูแล
ส่วนกำลังตัวที่เราจะสร้างขึ้นมา ที่เราจะให้ตามรักษาดูแลจิตของเราก็ไม่มีอะไร มีกำลังอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่ สติสัมปชัญญะ หรือปัญญา อันนี้เป็นสิ่งที่ควรสร้างขึ้นมา อุบายวิธีที่จะสร้างกำลังทั้ง ๒ อย่างขึ้นมา คือ สติสัปชัญญะ หรือปัญญานี่ พวกเราก็ได้เข้าใจในอุบายอยู่แล้ว เป็นอย่างนั้น ในวิธีเดินจงกรมเราจะทำอย่างไร วิธีนั่งสมาธิเราจะทำอย่างไร วิธีนอนทำสมาธิหรือยืนทำสมาธิทำอย่างไร ก็ล้วนแต่อุบายที่สร้างกำลังสติไว้ช่วยยับยั้งจิตใจ สร้างกำลังตัว อริยมัคคุเทศก์ หรือตัวพิพากษาความที่จะตัดสินความเป็นส่วนภายใน ในกิริยาการแสดงออกทางกาย วาจาที่พูดออกมา พร้อมทั้งความรู้สึกของจิตที่รู้สึกต่อสิ่งกระทบ เราจะเอากำลังทั้งหลายเหล่านี้เข้าไปยับยั้งอย่างไร
แล้วจะเอากำลังตัวพิพากษาความไปตัดสินใจความหรือจัดแต่งให้เข้าสู่จุดหรือรูปที่ถูกที่ควร จะทำได้อย่างไร อันนี้ในอุบายก็ได้แนะนำอยู่แล้ว หรือรูปที่ถูกที่ควรจะทำ ที่พวกเราสร้างขึ้นมา แล้วก็วิธีสร้างแล้วก็วิธีทดสอบทดลองอะไรต่าง ๆ รู้สึกว่าแนะนำให้พวกเราเข้าใจดีแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามพวกเราอย่าเข้าใจผิดในเรื่องสมาธิจิต การกระทำสมาธิจิตนี่รู้สึกว่าทำหลายแบบหลายอย่างกันต่าง ๆ กัน
บางท่านบางคนก็เอานิมิตในนิมิตในสิ่งที่เป็นแสงสว่างก็ดี ต้นไม้ก็ดี เห็นดอกไม้ก็ดี เห็นภูเขา เห็นผี เห็นเทวดา อาศัยสิ่งที่เห็นทั้งหลายแหล่ เป็นผลของสมาธิก็ดี ทำสมาธิแล้วมองหาเสมอ เมื่อมองหาเห็นแล้ว ก็เอานิมิตทั้งหลายเรียกว่า อุคหนิมิตมาอวดกัน ฝันเห็นอันนั้นฝันเห็นอันนี้ชัดแบบนี้เป็นอย่างนี้ เอามาอวดมาคุยกันเป็นผลของสมาธิก็มี
แต่แท้ที่จริงอันนี้ไม่ใช่ผลที่แท้จริงของสมาธิมันเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้ หรือ อุคหนิมิตเท่านั้น ถ้าผู้ใดไปหลงในนิมิตดังกล่าวก็แค่ตกอยู่อำนาจของวิปัสสนูปกิเลสมันหลอกเราเท่านั้น ไม่ใช่ผลของสมาธิที่แท้จริง ถ้าผู้ใดไปแช่อยู่แค่ก็ตกอยู่ในมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่ตัวของเราที่แท้จริงแล้ว ทีนี้ส่วนบางท่านบางคนนั่งสมาธิ ก็กำหนดหาความสบาย ความเบา ความสว่าง ความเย็น พยายามกำหนดหา เมื่อผู้ใดเข้าไปถึงจุดอิ่ม..สบาย เอาเรื่องอิ่มเรื่องสบายมาพูดคุยกัน เป็นผลของสมาธิที่แท้จริง
บางคนก็เอาผลของความเบาเหมือน ๆ จะเหาะเหมือน ๆ จะลอยนั่นได้ชั่วโมง สองชั่วโมงมาอวดการนั่งทนกัน ฉันนั่งได้สองชั่วโมง สี่ชั่วโมง หกชั่วโมง อะไรก็แล้วแต่ ผู้ใดสามารถนั่งได้นาน ผู้นั้นก็ชนะ เพราะสามารถที่จะได้ความเบาอันนั้นมาก อย่างนี้ก็มี บางคนก็อาศัยความเย็นซาบซ่าเสมือนหนึ่งยาทิพย์ชะโลมตัว ให้มีความสบายมาก เอาผลของความเย็นซาบซ่าเป็นผลของสมาธิ คุยอวดกันก็มี
บางคนเอาแสงสว่างเหมือนกับหมอกขาวสลัว ๆ มันชะโลมอยู่ในตัว หรือมันนึ่งอยู่ในตัว เย็น…โปร่ง…โล่ง…ถอนสมาธิออกมาแล้วก็รู้สึกประสาทมันโปร่งสมองมันโปร่ง นึกถึงอะไรก็รู้สึกว่ามันแจ่มชัด สามารถพูดธรรมได้ดี เป็นบ้าพูดธรรมะธรรมโม อวดคุยกันในเรื่องนิมิตก็เพียงแค่นั้น บุคคลที่ทำสมาธิทั้งหลายก็มักจะยกเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นผลสมาธิที่แท้จริง เพราะอย่างนั้นก็มี บางพวกก็มากำหนดฟังเสียงทางไกล มองถึงนิมิตที่อธิฐานขึ้นว่า บุคคลป่วยเอย คนนั้นจะตายคนนี้จะเป็น จะหาหมอในรูปร่างลักษณะอย่างไรมารักษาอย่างนี้ เป็นต้น
เอานิมิตทั้งหลายเหล่านี้มาเป็นหลักยึด แล้วก็พยายามพิจารณาก็พยากรณ์ไปตามนิมิต ก็สามารถที่จะพยากรณ์ทายทักสิ่งต่าง ๆ ให้คนทั้งหลายได้รู้ในสิ่งอันนั้น แล้วก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นไปเพื่อลาภสักการะและยศศักดิ์ ชื่อเสียง แหมรู้สึกมันไปหลายทาง มอง ๆ ดูแล้วผู้ที่บำเพ็ญทั้งหลาย แต่สำหรับผู้เข้าใจว่าการบำเพ็ญ โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงนั้น ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา คืออะไร แต่ถ้าจะพูดทางนอกแล้วมันมาก มันมากเรื่องมากอย่าง เพราะการทำสมาธิแบบนี้มันมีแต่ก่อนครั้งสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดนั่นแหละ มีมาเรื่อย ๆ มา
แต่พระพุทธองค์ของเราก็ดำเนินตามหลักสูตรของเกจิอาจารย์ต่าง ๆ หลายองค์ แต่ก็ไม่เป็นไปเพื่อความสำเร็จ ก็ได้อย่างแค่ที่ว่าสู่ฟังนั่นแหละ ผลของสมาธิก็ได้แค่นั้น เป็นไปเพื่ออภิญญาณสมาบัติ เป็นไปเพื่อฤทธิ์เดช เป็นไปเพื่อความสุขสบายแบบอย่างเขาไปสู่ผลของสมาธิในแบบภวังค์ เป็นไปเพื่อหูทิพย์ตาทิพย์อะไรต่าง ๆ ร้อยแปด แล้วแต่ผู้บำเพ็ญจะยึดหรือดำเนินในจุดใดของใครของเรา
แต่พระพุทธเจ้าดำเนินก็ไม่เป็นไปเพื่อการสำเร็จมรรคผลแต่อย่างใด แต่เมื่อพระองค์หวนมาคิดถึงการบำเพ็ญที่พระองค์ต้องการจริง ๆ ผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ๆ พวกเราทราบว่าพระพุทธเจ้านี่ไม่น่าเสียสละ ในสิ่งที่กล้าเสียสละมาได้ ถ้าคนธรรมดา ๆ อย่างพวกเราเจ้าข้านี่ ดูเหมือนจะเอาไม่ได้ เพราะความสุขของพระองค์นี่มาก เพราะพระองค์เป็นลูกชายใหญ่ของกษัตริย์ ผู้พระบิดาต้องการอยากจะให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ โดยอุบายที่ศึกษามาจากพราหมณ์ ให้หาอุบายวิธีผูกมัด มหาบุรุษให้จมติดอยู่ในโลก เพื่อจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
เพราะผู้พระบิดาไม่อยากจะให้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะไม่เข้าใจการเป็นพระพุทธเจ้านี่มีดีอย่างไร พระองค์จะได้ดีอย่างไรนี่นึกไม่ออก แต่การเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์นี่ท่านทราบดีมากในตำรา ว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ดีแค่ไหน พระองค์จะดีแค่ไหนอย่างนี้ เป็นต้น พระองค์ชัดมากจึงมีอุบายวิธีที่จะผูกมัด ให้จมติดอยู่ในโลกวิสัย อย่างที่พวกเราได้ทราบนั่นแหละ ร้อยแปดที่ผู้พระบิดาได้จัด เพื่อที่จะให้หลงเคลิ้ม อยู่ในความเป็นอยู่ในโลก
แต่สำหรับองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือต้องการอยากจะหนีพ้นไปเสียจากชาติ คือ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิความเจ็บไข้ จนกระทั่งถึง มรณะ โศกเศร้าพิลัยรำพันหรือพูดง่าย ๆ หมายความว่าอยากไปให้พ้นเสียจากอำนาจของโลก หมายถึงโลกธรรม หรือต้องการจะทำลายเสียซึ่งภพของจิต พูดง่าย ๆ ก็มีแค่นี้
ทีนี้ เมื่อจุดประสงค์มีเพียงแค่นั้น การดำเนินของเราจะทำอย่างไร เมื่อหวนพิจารณาโดยลำพังแล้ว พระองค์เข้าใจอยู่แล้วว่า ภพนี่มันไม่ได้อยู่ไหนหรอก ภพมันอยู่ที่จิต จิตที่จะต่อภพได้ คืออะไร จิตมันยังหลงอยู่กับความเป็นอยู่ในโลก ว่าโลกนี่สุข โลกนี้น่าอยู่ หรือจะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ เข้าใจว่านั่นลูกเรา ผัวเรา ตัวเรา นั่นเมียเรา นั่นสมบัติของเรา อะไร ๆ ต่าง ๆ
โดยที่เรียกว่าไม่รู้จริงตามสภาพความเป็นจริง ว่าในสมบัติทั้งหลายเหล่านั้น มันมีอยู่ประจำโลก มันอยู่ในโลก หรือการเกิดมานี่อัตภาพร่างกายซึ่งจะโผล่มาเจอะกันคราวนี้ แต่ส่วนตัวจิตใจวิญญาณซึ่งเป็นตัวก่อภพชาติ ตัวนั้นไม่มีการสลายและก็ติดสืบเนื่องกันมาตามลำดับ เมื่อหวนพิจารณาดูให้ชัดดีแล้วก็สำคัญอยู่ที่จิตใจ จิตใจนี่เป็นตัวก่อภพ ภพของจิตนั่นคืออะไร ก็คือเหตุการณ์สิ่งกระทบอย่างที่พวกเราได้กระทบนั่นแหละ เหตุการณ์สิ่งกระทบก็คือสิ่งที่ได้ยินในหู สิ่งที่ได้เห็นในตา นี่เป็นเหตุการณ์สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
เมื่อน้อมระลึกถึง สิ่งเหล่านั้นเรียกว่าอารมณ์ อารมณ์ที่น้อมนึกระลึกถึง อารมณ์หรือเหตุการณ์อันที่เป็นอดีตระลึกถึงก็เรียกว่า อตีตารมณ์ เหตุการณ์ที่แสดงอยู่ปัจจุบันก็ถือกันเฉพาะเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบันก็ถือเป็นเหตุการณ์โดยเฉพาะ ในเมื่อเหตุการณ์อันที่ชวนให้เราพะวงคิดในข้างหน้า อันที่พวกเราต้องการมุ่งมาดปรารถนาอยากดี อยากเด่น อะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นความปรารถนานั้น ก็จัดถือเป็นอารมณ์อันที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตเหมือนกัน
เพราะเราได้ยินเขาเล่าว่าอันนี้ดีอย่างนี้ อันนั้น อันนี้ จิตมันก็พะวงไปข้างหน้า แต่อาศัยสิ่งที่ผ่านหู หรือสิ่งที่ได้เห็นมาแล้วในตา เป็นสิ่งที่ชวนให้เราพะวงเป็นไปตามรูปนั้น เมื่อมาพิจารณาถึงอารมณ์หรือเหตุการณ์สิ่งที่นำพาแล้ว ก็ถือว่าเมื่อผู้ใดยังไปยึดมั่นถือมั่น หรือเหนี่ยวให้อารมณ์หรือความคิดนั้น ก็ถือว่าเป็นหลงอยู่ในความเป็นอยู่ในภพ ภพนั้นหมายถึงภพของจิต เมื่อหากจิตของเรานี่ ไม่มีนิพพิทา วิราคะ ไม่มีโลกวิทู แห่งจิตหรือไม่มี ความสามารถที่จะทำลายเสียให้พ้นไปจากภพของมันแล้ว ย่อมมีการเกิดนี่เป็นหลักธรรมดา
เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์มาหวนพิจารณาถึงอย่างนี้แล้ว พระองค์ก็ดำเนินคิดหาช่องทางที่จะยุทธวิธีหรือทำลายภพของจิตหรือพรากจิตที่เชื่อมต่อภพ พระองค์มามองถึงธรรมาวุธอันที่จะสะสมขึ้นมาต่อต้าน หรือทำลายกำลังของสิ่งเหล่านั้น นั้นคืออะไร ส่วนกำลังตัวนี้มันมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันน้อย ไม่พอกับความต้องการ เช่น สติ ตัวระลึกรู้ หรือปัญญา พิจารณาสอดส่องถึงเหตุการณ์ควรหรือไม่ควรอย่างนี้มันมีอยู่แต่กำลังไม่พอ พระองค์จึงมาหาวิธีต่อเติมกำลังสติ ตัวระลึกรู้นี่ให้มากขึ้น
เมื่อพระองค์หาอุบายวิธีดำเนินอย่างที่พวกเรากระทำ เช่น การเดินจงกรม ท่านใช้วิธีบริกรรมเท่าที่ครูบาอาจารย์ได้แนะนำในอุบายเช่น วิธีดุจในท่านอาจารย์มั่น ภุริทัตตเถร ท่านแนะนำในอุบายวิธีการดำเนินของพระพุทธเจ้า เช่น การเดินของพระองค์นี่ท่านจะเอาสัมผัสของก้าวของเท้าที่เดินเหยียบลงที่พื้น และอาจจะนับหนึ่งสองอะไรอย่างนี้เป็นต้น
อย่างพวกเราก็ต้องน้อมระลึกถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระบิดา ว่า พุทโธ ๆ ก้าวขาหนึ่ง พุท ก้าวขาหนึ่ง โธ พุทโธ ๆ อย่างที่เคยแนะนำมา พุทโธ ๆ ๆ โดยอุบายแล้วก็ต้องการอยากให้สติ ซึ่งระลึกรู้ในสัมผัสที่ก้าวอยู่ได้ตลอดเวลาไม่ให้จิตหนีหน้า หรือคิดในอารมณ์ภายนอกหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ให้จิตของเรานี่ได้รับรู้ในเฉพาะก้าวขาที่เราตั้งใจเอาไว้ ที่จะกำหนดรู้เท่านั้น พุทโธ ๆ ๆ อยู่ ไม่ให้จิตของเราเคลื่อนไปสู่อารมณ์สัญญาภายนอกโดยวิธีนี้ ก็ต้องการจะสร้างกำลังสติแล้วก็ทดสอบทดลองดูว่า สติของเราสามารถคุมจิตของเราให้รับรู้อยู่ในจุดนี้ได้ตลอดไปไหม นี่เป็นอย่างนั้น
เมื่อเราเหนื่อยแล้วก็มานั่ง วิธีนั่งก็แบบพระปางนั่งสมาธิ วางขาซ้ายลงไปแล้วก็เอาขาขวาทับแล้วก็วางมือซ้ายลงไป แล้วก็เอามือขวาทับ แล้วก็ตั้งตัวให้ตรงพอสมควร แต่อย่าให้ตึงนักให้พอดี ๆ ตึงมากเกินไปไม่สบายก็หย่อนลงให้พอดี ถ้าหย่อนลงไปไม่สบายก็ตึงให้พอดี แล้วก็กำหนดที่ปลายจมูก กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก แต่เราอย่าไปเพ่งนะ เราอย่าไปกดดัน หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ พุทโธ ๆ ๆ แต่เราไม่ออกปาก กำหนดเพียงในใจ แต่อย่าให้ความรู้สึกวิ่งออกตามลมวิ่งเข้าตามลม ให้เพียงรับรู้อยู่เฉย ๆ
เหมือนปล่อยควายออกจากคอก เราไม่ต้องการไปส่ายสายตาตามควาย มันออกมาก็หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า เมื่อเราสามารถจ้องอยู่ที่ประตูได้จริง ๆ นี่ ก็สามารถที่จะนับจำนวนของควายที่ออกได้ตลอด ฉันใด ลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกเราไม่ต้องวิ่งตามลม เราเพียงแค่กำหนดรับรู้อยู่ที่ปลายจมูก พุทโธ ๆ ๆ ๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เป็นอย่างนั้น เมื่อเรากำหนดพุทโธ ๆ ๆ ไม่มีการกดดันตัวเองนี่จะไม่มีการมึนงงศรีษะ คอไม่แห้งไม่ตีบ จะปรากฏเบา สบาย ปกติธรรมดา อันนี้เรียกว่า ไม่เพ่ง ไม่กด ไม่ดัน
ถ้ากำหนดแล้วรู้สึกว่ามันทื่อ-ชา เราก็ถือว่ากำหนด มันกดดันตัวเองเราก็เลิกซะ หาวิธีกำหนดใหม่ เมื่อกำหนดถูกจะเบาวาบทันทีเลย แล้วก็กำหนดพุทโธ ๆ ต่อไป ในอุบายวิธีที่กำหนดแบบพุทโธ ๆ ๆ ที่ปลายจมูกนี้ ในจุดประสงค์ก็ต้องการอยากจะสร้างสติตัวระลึกรู้ ให้รับรู้อยู่ในจุด คือ ปลายจมูกของเรา และมีลมหายใจเข้าออก ผ่านออก ผ่านเข้า เป็นเครื่องเกาะยึดเหนี่ยว มีบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ๆ เป็นสิ่งยับยั้งช่วยกันหลายอย่าง เพราะผู้ทำใหม่จิตใจวอกแวก จิตใจมันไวต่ออารมณ์ เราจึงได้มีวิธีผูกมัดหลายอย่างให้จิตของเราได้มั่นคงขึ้น พุทโธ ๆ อยู่ ในอุบายวิธีก็เช่นกันต้องการจะประคองจิตให้รับรู้อยู่ในจุดนั้นได้จริง ๆ และอยากจะให้กำลังของสติมีอำนาจเหนือจิต ไม่ให้จิตหนีหน้าสติไปต่ออารมณ์สัญญาได้เช่นกัน
เมื่อเราทำพุทโธ ๆ ๆ เมื่อจิตเราอยู่มันชินแล้วนี่ ไม่มีแวกแวกไปต่ออารมณ์สัญญา และไม่มึนงงศรีษะ ไม่รู้สึกบีบในหน้าอกให้แน่น หัวใจที่จะผิดจังหวะเต้น ไม่รวนเร ไม่ผิดจังหวะ ไม่ต้องปกติอยู่ตลอด เราจะสังเกตได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีวิปริต ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่ผิดจากปกติจากปกติเดิม เรียกว่าปกติอยู่เรียบร้อย สังเกตภายในกายของเรา จะไม่มีตรงไหนระส่ำระส่ายอันนี้ถูกต้อง แต่อย่าไปเอาผลของสมาธิแบบเบาสบาย มาว่า แต่ทำแล้วก็เป็นธรรมดา ผลพลอยได้มันมีอยู่ แต่เราอย่าไปหลง
ขอให้มีจุดประสงค์ต้องการอยากจะให้สติมีอำนาจเหนือจิต บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจของสติ เอาจุดหนุนต้องอยู่ในจุดนั้น แจ๋ว ไม่มีวอกแวก โดยจุดประสงค์ก็อย่างนี้ เมื่อเราเหนื่อยนัก เราก็นอน นอนนี้ก็เหมือน ๆ พระ ปางสีหไสยยาสน์ เอามือขวาของเราสอดเข้าไปใต้แก้ม นอนทับลง เอามือซ้ายวางราบลงไปตามตัว ขาเหยียดออกไปให้ตรง เหมือนพระปางสีหไสยยาสน์ ถ้าเราเหยียดตึงนักไม่สบายคู้มานิด ๆ คู้มานักไม่สบายก็เหยียดหา วิธีสบายที่สุด กำหนดที่ปลายจมูกเช่นกัน พุทโธ ๆ อย่างที่เรานั่งทำสมาธินั่นแหละ
ถ้าจิตของเราอยู่ในอำนาจตัวสติได้ ให้รับรู้อยู่ในลมหายใจเข้า-ออก หรือปลายจมูกได้ตลอดเวลา ไม่วอกแวก ไม่มีหวนไปทางอื่น ไม่มีคิดไปทางอื่น รู้สึกว่าสติของเราสามารถบังคับจิตของเราให้อยู่ในอำนาจสติได้จริง ๆ พุทโธ ๆ อยู่ตลอดเวลา การกำหนดเมื่อสติสมบูรณ์แล้วนี่ เราจะได้รู้ทันทีว่า เราจะไม่เคลิ้ม หลับเลย แจ๋วเอาทั้งคืนก็ แจ๋ว
พอถึงตอนเช้าเราลุกขึ้นก็เหมือนเรานอนหลับนั่นแหละ จิตใจก็สบาย มองสังเกตดูประสาทสมองก็ไม่มีมึนงง โปร่ง โล่ง สบาย ธรรมดา ๆ ความทื่อความซึมหรือง่วงเหงาไม่มี เรียบร้อยเหมือน ๆ กับเรานอนหลับทั้งคืน นั่นแหละ อันนั้นใช้ได้ถูกต้อง ต่อจากนั้นไปเราเหนื่อยลุกขึ้นมายืนเสียบ้างก็ได้ การยืนก็แบบธรรมดาเหมือน ๆ เดินจงกรม แต่ผิดกันอย่างเดียวเราไม่เดินไป มือวางลงไป มือซ้ายวางลงไป มือขวาทับ มือซ้ายวางเข้าไปก่อน มือขวาวางทับ แต่ว่าคว่ำหน้ามือเข้า แต่นั่งทำสมาธิเอามือไปซะ เวลาเดินหรือยืนนี่เราคว่ำมือ แล้วก็ยืนกำหนด ถ้าหลับตามันโยกเยกเราก็ลืมตา ทอดสายตาให้ต่ำประมาณสัก ๔ ศอก แล้วก็กำหนด กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกเช่นอย่างที่แนะนำนั่นแหละ
การเดินไปอย่าเร็วนัก อย่าช้านัก ให้พอดี ๆ สายทางที่ยาวก็ประมาณ ๒๕ ก้าวอย่างนี้ หรือจะกว่านั้นก็ได้หรือจะสั้นกว่านั้นก็ได้แล้วแต่สถานที่ การเดินไปก็อย่าช้าเกินไปอย่าเร็วเกินไป ทอดสายตาลองดูถ้าสั้นนักไม่สบายเวียนศรีษะ ก็เอายาวขึ้น ยาวนักไม่สบายก็เอาสั้นลงมาพอดี ๆ แล้วก็ทอดสายก็ก้าวไป พุทโธ ๆ นึกในใจ พอไปถึงทางโน้นยืนนิดหน่อย ก็เวียนขวา หันมาให้ตรงทางแล้วก้าวขาหนึ่งพุท ขาหนึ่งโธ เหนื่อยแล้วก็นั่งอีกเวียนทำอยู่อย่างนั้น โดยอุบายวิธีที่เราสร้างสติขึ้นมาแล้วให้สมบูรณ์นี้เราต้องไปใช้กับหลายสิ่งหลายอย่าง คือ เมื่อสติสมบูรณ์ดีแล้ว ปัญญาอันที่เราสร้างขึ้นมาโดย หาวิธีประคองจิตของเรา เข้าจุดโน้น เข้าจุดนี้ อุบายต่าง ๆ มีการสร้างปัญญาเป็นคู่กันเสร็จเรียบร้อยก็เอามาใช้กับการเคลื่อนไหวภายนอกก่อน
เพราะเป็นส่วนหยาบ เช่น เขาด่าเรา เขาชมเรา มันมีความรู้สึกวูบวาบขึ้นมาทางใจ แต่ส่วนใจมันวูบวาบ เราพยายามประคองไว้ เอาไว้ อย่างให้เป็นไปตามรูปนั้น มันจะด่าเขาตอบไป มันจะต่อยเขาต่อยไป เราพยายามเอาไว้ ถึงแม้จะมีความรู้สึกกระทบกระเทือนทางส่วนภายใน แต่การเคลื่อนไหวภายนอกเราต้องเอาอำนาจตัวนั้นประคองหรือบังคับไว้ หรือเราจะลุกขึ้นทีหนึ่ง จะนั่งลงทีหนึ่ง เราก็ต้องพยายามนึกถึงความสุภาพเรียบร้อย การไม่คนองอยู่ในระหว่างเพศหญิง ชาย พระภิกษุ สามเณร แม่ชี หรือผู้ปฏิบัติ ในกิริยาที่ลุกขึ้นจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะกับความเป็นอยู่ของตัวเอง พร้อมทั้งการมองซ้ายมองขวาทอดสายหูสายตาอะไรเหล่านี้เป็นต้น
จนกระทั่งหยิบของวางของ เราจะสามารถจัดให้มีสติสมบูรณ์ วางลงโดยมีสติสมบูรณ์ ไม่เป็นไปโดยธรรมชาติธรรมดา โดยมีสติตัวนำสมบูรณ์เต็มมาก หยิบแล้ววางๆ แล้วหยิบ ไม่กระทบกระเทือน ให้สมบูรณ์และว่องไว จนกระทั่งเราจะพูดออกมาแต่ละคำเราต้องนึกถึง เพศ วัย และฐานนะ และคำพูดเป็นอุปการะต่อธรรมหรือไม่ เป็นสัมมาวาจาหรือไม่ คำพูดเป็นสุภาษิตวาจาหรือไม่ คำพูดเป็นปิยวาจาหรือไม่ เป็นสัจจวาจาหรือไม่ เป็นสัมมาวาจาหรือไม่ ในวาจา ๔ ฐาน
เราควรพยายามกำหนดถ้าสิ่งใดพูดมาแล้ว เป็นไปเพื่อผลกระทบกระเทือนคนอื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน คำพูดใดที่จะเป็นการเพื่อการเบียดเบียนคนอื่น คำพูดใดที่จะเป็นไปเพื่อความมัวหมอง ไม่เป็นอุปการะต่อ…เป็นอยู่ไหม เมื่อเราเอา…เข้ากับการเคลื่อนไหวทางกาย ในการลุกขึ้นนั่งลงจะหยิบของวางของประกอบกิจการงานทุกอย่างจะบังเกิดผลดีหรือผลเสียเหมาะสมกับ เพศ วัย ฐานะหรือไม่ เมื่อเราพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะ ตัดออกทันที เมื่อเหมาะเอา ถึงแม้จะขัดต่ออัธยาศัยกิเลสก็บุกเป็นอย่างนั้น
เมื่อเราสามารถดำเนินได้สมบูรณ์ในทางกายและทางวาจา พูดออกมาแต่ละคำเราก็ต้องนึกถึงว่าเป็นไปเพื่อความเศร้าหมองไหม เป็นไปเพื่อบาปไหม เป็นไปเพื่อการกระทบกระเทือนหรือเป็นไปเพื่อการเบียดเบียนผู้อื่นไหม เราต้องมีสติสัมปชัญญะ คือ สติกับปัญญาคอยคุม คอยตัดสินความ ดำเนินให้เรื่อย ๆ จนกระทั่งความรู้สึกทางด้านจิตก็จะระลึกรู้สึกต่อส่งกระทบทีเป็นอดีต เรียกว่าอตีตารมณ์ก็ดี หรือเหตุการณ์อันเป็นอยู่ปัจจุบันก็ดี ความรู้สึกที่มันวูบวาบขึ้นมานี่ เราก็พยายามหาอุบายวิธีประคองไว้ สั่งบังคับด้วยอำนาจของสติ
เมื่อสติมีอำนาจเหนือจิตแล้ว จิตไม่มีโอกาสที่จะรุนแรงไปตามอำนาจของมันได้ หยุดมันก็ต้องหยุด เราก็ต้องหาเหตุผลมาแก้ไขจิตของเราก็ต้องยอมรับแน่ พยายามกระทำอยู่อย่างนี้จนจิตของเรานี่ไม่มีความรู้สึกชอบ รัก เกลียด โกรธ เรียกว่าอยู่ในคำที่เรียกว่าปกติ เมื่อเมื่อเราสามารถหาวิธียับยั้ง และแก้ไขให้จิตของเราให้เป็นไปตามรูปนี้ได้ตลอดเวลา แต่บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าฉันนี่ ก็พยายามหักห้ามจิตของฉันอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมเมื่อฉันได้รับความทุกข์แล้วนี่ จิตของฉันนี่ไปตกอยู่ในอำนาจเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา นอนก็ไม่หลับ ดูดบุหรี่อัดเข้าไป ๆ ให้มันเมาเข้าจะนอนหลับ มันก็ไม่หลับ หาอุบายวิธีแก้ไข รอบด้าน มันก็ไม่หลับอยู่นั่นแหละ
ผลที่สุดก็ฟุ้งซ่านไปลอยคออยู่ในเหตุการณ์ล็อกแล็กกลายเป็นโรคเส้นประสาทไปเลย บางคนฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นา ๆ จนกระทั่งบางคนอยู่ไม่ได้ต้องกินเหล้า เล่นการพนัน ไปเที่ยวเตร่ในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุจะสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเองอีกก็มี ก็เพราะไม่มีอุบายวิธีที่จะระงับได้ บางคนก็บ่นว่าอย่างนี้ บางคนก็บอกว่าดูซิ เพื่อนของผมนะไม่มีความสามารถระบายอารมณ์หรือไม่สามารถที่จะประคองจิตของตนเองให้อยู่ในอำนาจอันนี้ได้ ฆ่าตัวเองตายก็มี อันนี้ก็เนื่องมาจากว่าอำนาจตัวบังคับมันไม่พอ
ถ้าอำนาจตัวบังคับจริง ๆ แล้ว สามารถจะบังคับได้ คิดดู นักจิตวิทยาสะกดจิตคนป่วยให้หลับ ทำไมสามารถให้หลับได้ บังคับให้ลืมสิ่งนั้นลืมสิ่งนี้ ยังสามารถลืมได้ อย่างนี้ก็มี เพราะเหตุนั้น ในเมื่อเราสามารถที่จะสะกดจิตของตัวเองนี่ให้ได้ตามปรารถนานี่ เพราะเมื่อเราสร้างกำลังสติให้สมบูรณ์แล้ว สั่งให้จิตของ หากในเมื่อมีสิ่งกระทบวูบ หยุด มันต้องหยุดแน่ เมื่อหยุดแล้วนี่มันจะเกิดมีปัญญาชนิดหนึงขึ้นมาช่วยเป็นบาทเบื้องต้น
และเราก็พยายามตรองให้ลึก ใช้ตัวอริยมัคคุเทศก์หรือพิพากษาความนี่เข้าพิสูจน์ให้ดีว่า เมื่อเขาแสดงบทบาทอย่างนี้ต่อเรา เมื่อเราแสดงบทบาทอย่างนี้ออกมาตอบรับ เหมาะสมแล้วหรือกับเราผู้เป็นพระ เราผู้เป็นเณรเป็นแม่ชี หรือเป็นผู้ประกาศตนเป็นพระพุทธมามกชนในพุทธบริษัทนี้ จนกระทั่งฐานะความเป็นอยู่ทุกอย่าง เมื่อเรากระทำลงไปแล้วความเสื่อมเสียหายขนาดไหน เนื่องถึงใครต่อใคร ใช้บทวิจารณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งได้ความเข้าใจชัดแล้ว น้อมเอาเหตุผลต่าง ๆ มาสอนจิต จิตย่อมยอมรับ
แต่สำคัญอยู่ที่ตัวสตินี่นะ ที่ควบคุม ถ้าสติไม่สมบูรณ์ไม่แก่กล้าแล้ว จิตจะไม่ยอมรับ เมื่อจิตมันไม่ยอมรับจะสอนสักแค่ไหนก็ตาม แนะนำสักแค่ไหนก็ตาม จิตของเรานี้ไม่มีทางจะวางต่ออารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ฆ่าตัวเองตายก็เพราะวางอารมณ์ไม่ได้ อำนาจของเหตุการณ์มันแรงกว่าจึงเป็นรอยคอล็อกแล็กอยู่ในเหตุการณ์ นอนไม่หลับ หาวิธีแก้ไขอย่างไรก็ไม่หลับ ผลที่สุดก็ยอมตาย ถึงขนาดตายก็ดี ถึงขนาดบ้าก็มี เพราะไม่มีความสามารถต่อต้านกับจิตใจของเราไม่ให้ต่ออารมณ์สัญญาได้
เพราะในเมื่อพวกเราได้กำลังตัวนี้ขึ้นมาแล้วง่ายดาย หยุด…สั่งหยุดก็ต้องหยุด หาเหตุผลด้วยกำลังของอริยมัคคุเทศก์หรือปัญญานี่ สามารถหาเหตุผลได้อย่างง่ายดาย เพราะอันนี้มันกฏธรรมดาของโลก เมื่อเราสามารถชนะจิตของเราไม่ให้ต่ออารมณ์สัญญาได้ อันนี้เราก็สามารถอุทานว่า ชิตังเม เราผู้ชนะจิตของเราได้
ก็เป็นอันว่าเหตุการณ์อันที่จิตของเราเข้าไปต่อเชื่อมโยง ที่เรียกว่าภพของมันนี่ สามารถตัดขาดกระเด็นเป็น ๒ ภาค ไม่มีทางที่จะเชื่อมโยงได้ จิตของเราก็สามารถที่จะรู้ต่อสภาวะความเป็นจริงได้ถูกต้อง แล้วก็เป็นโลกุตรจิต สามารถจะพ้นไปจากโลกธรรม ๘ ประการ นี่เป็นอย่างนั้น
เมื่อพวกเราสามารถทำได้อย่างนี้ พวกเราก็สบาย ๆ ที่สุด เพราะเราสามารถปกครองจิตของเราได้ และรู้สภาวะทั้งหลายเหล่านั้นได้ถูกต้องด้วย นี่เป็นอย่างนั้น เพราะนี่แหละจึงอยากแนะนำให้พวกเรานี่ได้มีโอกาสบำเพ็ญภาวนาหาอุบายวิธีทำลายภพของจิต หรือพรากจิตออกจากภพของเขาเสีย สิ่งไหนควรไม่ควร เราจะได้หาวิธีป้องกันจิตในทางที่ไม่ควร และดำเนินเข้าไปสู่จุดที่ถูกที่ควร
ถึงแม้จะขัดต่ออัธยาศัยของกิเลสเราก็ต้องคอยต่อสู้ดิ้นรนเข้าไปสู่จุดนั้นจนสำเร็จได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราผู้ที่กล้าเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างนี่ อยากจะให้มีโอกาสได้บำเพ็ญ ได้ภาวนา ให้สะดวกให้สบายนะ ขออย่าลืมนะในอุบายที่แนะในเบื้องต้นว่า ควายที่ปล่อยโดยไม่มีกำลัง โดยไม่มีเจ้าของตามดุแล ย่อมไม่ปลอดภัย ควายที่มีเจ้าของตามดูแลรักษาย่อมปลอดภัยมาก พร้อมทั้งสถานที่ไหนมีหญ้ามีน้ำ เจ้าของต้องหรือบังคับเข้าสู่นั้นได้เสมอไป ควายนั้นจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ได้ ฉันใด
จิตใจที่ปล่อยไปโดยลำพัง ไม่มีกำลังของสติสัมปชัญญะหรือปัญญาตามคุมดูแลรักษาก็ย่อมไม่ปลอดภัย ย่อมสามารถที่จะให้ความทับถมตัวเอง อย่างที่พวกเราได้ทราบ เมื่อผู้ใดมีกำลังส่วนนี้ ตามรักษาดูแลจิตของตัวเอง คุ้มครองหรือทำในสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นไปเพื่อความเศร้าหมองเป็นไปเพื่อความทุกข์ได้ ก็เท่ากับควายที่มีเจ้าของตามรักษาดูแลฉันนั้น
เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราจงพยายามดำเนินให้เป็นไปตามรูปนี้เถิด อาตมาก็อธิบายเหตุผลสู่ฟังมาก็ไม่สู้จะยาวนัก แต่ก็กลัวว่าพวกเราจะเหนื่อย ก็ขอยุติไว้เพียงแค่นี้
เพราะฉะนั้น ในที่สุดยุติลงแห่งธรรมเทศนานี้ อาตมาภาพขออธิฐานถึงความดีที่ได้บำเพ็ญมา ทำทานก็ดี ทางรักษาศีลก็ดี การเจริญเมตตาภาวนาก็ดี อำนาจส่วนของตัวเองที่สะสมกระทำมาก็ดี ในบุญญเขตอันที่พวกท่านทั้งหลายได้กระทำมาแล้วก็ดี ด้วยความดีอันที่พวกเราสะสมขึ้นมาทั้งหมดนี้ ขอความดีทั้งหลายจงมีประสิทธิภาพนำพาพวกเราก้าวไปสู่จุดที่ถูกที่ควร อย่างได้หลงไหลไปตามโลกวิสัย ที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ เดือดร้อน อารมณ์อันใดที่ทำจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว จนทำให้พวกเรานี่คิดเสียจนนอนไม่หลับ เป็นโรคประสาทก็ดี ด้วยอารมณ์และอำนาจอันนั้น อย่าได้มากระตุ้นจิตของเราให้ตกไปลอยคออยู่ในอำนาจของมัน
ขออำนาจความดีอื่นที่พวกเรากระทำ จงกระตุ้นความรู้สึกเข้าสู่ระบบของธรรม เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย เกิดสันติสุข นอนหลับสบาย คิดอะไรก็ขอให้สมความมุ่งมาดปรารถนาสิ่งใด ๆ ที่พวกเราปรารถนาไว้ ขอให้สำเร็จ ๆ ๆ ในพวกท่านทั้งหลายจงทุกประการ พรทั้งหลายที่อธิฐานมานี้ ขอจงสำเร็จในพวกท่านทั้งหลายจงทุกประการเทอญ ฯ สาธุ
**ไม่อนุญาตให้นำไปเพื่อการค้าหรือจำหน่าย แต่สามารถพิมพ์แจกเป็นธรรมทานได้
ที่มา http://www.khaosukim.org